หน้าร้อน ทะเลถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตที่เรานิยมไปเที่ยวกัน เนื่องจากทะเลมีความสวยงามในตัวเองอยู่แล้ว และเป็นที่ที่จะช่วยให้จิตใจของเราสงบในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หลายคนจึงหลงรักมนตร์เสน่ห์ของท้องทะเล และถือโอกาสเอากล้องไปเก็บภาพสวยๆ ด้วย แต่แค่ยกกล้องขึ้นถ่ายเลย อาจทำให้ภาพ Seascape หรือภาพทะเลของเราธรรมดาเกินไป และนี่คือเคล็ดลับถ่ายทะเลยังไงให้สวย
หยุดโมเมนต์...คลื่นกระทบฝั่ง
Photo by Emiliano Arano from Pexels
เริ่มจากการเก็บภาพคลื่นที่กำลังม้วนตัว ก่อนจะกระทบฝั่งและแตกกระจายเป็นฟอง ซึ่งต้องอาศัยช่วงเวลาที่พอเหมาะ และอาจต้องเก็บภาพหลายครั้ง ถึงจะได้ภาพที่ลงตัวเช่นนี้ แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกเลย ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของกล้องเป็นหลัก เพราะหยดน้ำอาจกระเซ็นโดนกล้องเสียหายได้ แนะนำว่าให้ใช้เลนส์ telephoto ซูมเข้าไปที่คลื่น มองหาก้อนหินที่่เป็นจุดสุดท้ายก่อนคลื่นจะกระทบ ส่วนตำแหน่งในการถ่าย ควรเป็นจุดที่ต่ำที่สุดที่อยู่ใกล้ระดับน้ำทะเลและเราต้องอยู่ใกล้กับคลื่น อย่าลืมใส่ case กันน้ำ เพื่อความปลอดภัยของอุปกรณ์การถ่ายภาพด้วย ส่วนเวลาตั้งค่าให้ใช้สปีดชัตเตอร์สูงๆ ลองดูสัก 1/1000 ก่อน เพื่อหยุุดนาทีที่คลื่นกระทบก้อนหิน และควรตั้งโฟกัสเป็น continuous ค่ารูรับแสงก็เช่นเดียวกัน ให้ใช้รูรับแสงแคบๆ เพื่อให้ได้ภาพชัดลึก
Photo by Emiliano Arano from Pexels
Photo by Emiliano Arano from Pexels
เปิดสปีดชัตเตอร์ช้าๆ ให้เห็นความเคลื่อนไหว
Photo by Simon Clayton from Pexels
Photo by Pok Rie from Pexels
เทคนิคที่แล้ว เราพูดถึงการใช้สปีดชัตเตอร์สูงๆ เพื่อจับโมเมนต์คลื่นแตกกระจายให้ทัน แต่ก็มีหลายคนที่ชอบถ่ายคลื่นให้ดูฟุ้งๆ สมูท ซึ่งเราจะต้องใช้สปีดชัตเตอร์มากๆ หน่อย ดังนั้นสปีดชัตเตอร์จึงมีผลอย่างมากต่อภาพของเรา เราสามารถเล่นกับสิ่งนี้ได้หลากหลาย แต่ถ้าจะใช้สปีดชัตเตอร์ช้าๆ ต้องวางกล้องบนขาตั้งกล้อง ให้กล้องมั่นคงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แนะนำให้ตั้งค่าเป็นโหมด TV หรือ S (Shutter-Priority) เราสามารถเลือกสปีดชัตเตอร์ได้เอง ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากให้ฟุ้งมากน้อยแค่ไหน เปิดช้าๆ 0.5 วินาที จะเห็นการเคลื่อนไหวของคลื่นเพียงนิดเดียว แต่ถ้าเปิดสปีดชัตเตอร์ช้าๆ สัก 30 วินาที คลื่นจะเบลอและฟุ้งๆ สวยงามมาก ส่วนค่ารูรับแสงกล้องจะคำนวณให้เอง แต่การเปิดสปีดชัตเตอร์ช้าๆ เป็นเวลานาน มีผลให้แสงเข้ามาในกล้องได้มากขึ้น แม้เราจะลดค่ารูรับแสงให้แคบแล้วก็ตาม ให้พกฟิลเตอร์ ND ไปด้วย เพราะจะช่วยลดปริมาณแสงที่ผ่านเข้ามา ทำหน้าที่คล้ายๆ แว่นกันแดด
เปลี่ยนไปถ่ายมุมสูงบ้าง
Photo by Ishan from Pexels
บางคนอาจเบื่อถ่ายรูปที่มุมมองเดิมๆ อย่างระดับสายตาของคน สมัยนี้ใครที่มีโดรน Gadget ยอดฮิตที่ช่วยให้เราได้มุมมองที่ทะลุขีดจำกัดที่เราทำไม่ได้ อย่างขึ้นไปถ่ายมุมสูง ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการถ่ายภาพสำหรับช่างภาพเลยทีเดียว ซึ่งเราสามารถเล่นกับการถ่ายด้วยโดรนได้หลายอย่าง เช่น การมองหาความ contrast กันของชายหาดกับทะเล หรือ Pattern การเกิดซ้ำกันของรูปร่างและสีที่เหมือนๆ กัน และการใช้โดรนถ่ายก็เหมือนการถ่ายภาพแนวอื่นๆ ที่ต้องหาองค์ประกอบภาพแบบเส้นเพิ่มเข้าไปด้วย จะเป็นเส้นโค้งหรือเส้นตรงก็ได้ทั้งนั้น ส่วนการตั้งค่าโดรนเวลาถ่าย ก็ให้ใช้ ISO ต่ำๆ สัก 100 เพื่อให้ภาพคมชัดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
Photo by Tomáš Malčo Malík from Pexels
Photo by The Lazy Artist Gallery from Pexels
มองหาเงาสะท้อน
ไม่มีอะไรจะงดงามเท่าภาพท้องทะเลใสสีครามแล้ว แต่การถ่าย Reflection หรือภาพวัตถุเงาสะท้อนก็จะยิ่งได้มุมมองที่น่าหลงใหลไปอีกแบบ ถ้าเราไปถ่ายทะเล สิ่งที่หาได้ใกล้ๆ ตัวก็เป็นทรายเปียก พกขาตั้งกล้องไปถ่ายรูปด้วย เพื่อเลี่ยงการสั่นไหวของกล้อง ตั้งค่ากล้องที่โหมด AV (Aperture-Priority) ใช้รูรับแสงแคบๆ ค่า F16-F32 เพื่อให้ภาพชัดลึก และอย่าลืมใช้ฟิลเตอร์ CPL เพื่อให้สีของท้องฟ้าเข้มขึ้น ตัดเงาสะท้อนในน้ำกันด้วย
Cr. Nathan Cowley from Pexels
ถ่ายตอนไหนให้ได้ภาพที่สุดยอด?
เนื่องจากสภาพแสงมีผลต่อภาพถ่ายของเรา ถึงจะสถานที่เดียวกัน แต่คนละช่วงเวลา ความโดดเด่นก็ไม่เท่ากันแล้ว ถ้าถามว่าช่วงเวลาไหนที่เราควรออกไปถ่ายทะเลกัน ก็ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับว่าเราอยากได้ภาพแบบไหน เพราะสภาพแสงแต่ละช่วงการตั้งค่าก็จะแตกต่างกัน ถ่ายทะเลในช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตก หรือ Golden Hour ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่ดวงอาทิตย์ขึ้น และหลังดวงอาทิตย์ตก นั้นจะได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด โทนสีของภาพจะดูอบอุ่น และท้องฟ้าจะปรากฏเป็นสีเหลือง สำหรับการถ่ายภาพในช่วงนี้ แนะนำว่าให้ตั้งค่า F16 ให้ภาพมีความชัดลึกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วน ISO หรือค่าความไวแสงตั้งให้ต่ำๆ เข้าไว้สัก 100 หรือ 50 และสปีดชัตเตอร์ช้าๆ ที่ 1/10 -1/20 วินาที ถ้าอยากให้คลื่นดูฟุ้งๆ เหมือนมีการเคลื่อนไหว ส่วนตอนเที่ยงวัน แสงจะแข็งและไม่สวยเท่าช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นและตก จึงไม่แนะนำให้ถ่าย
Cr. eacuna on Pixabay